ห้องปฏิบัติการวัสดุนาโนเฉพาะทางและโครงสร้างพื้นผิว

ห้องปฏิบัติการวัสดุนาโนเฉพาะทางและโครงสร้างพื้นผิว มุ่งเน้นการออกแบบและสังเคราะห์พอลิเมอร์และสารอินทรีย์ขนาดเล็กกึ่งตัวนำไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันนิยมนำมาใช้แทนสารกึ่งตัวนำแบบดั้งเดิมที่มีราคาสูง ความโดดเด่นของสารกึ่งตัวนำเหล่านี้คือสมบัติความเป็นพลาสติก นั่นคือ ความอ่อนตัว ยืดหยุ่น ความทนทาน และความสามารถในการขึ้นรูปด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก เช่น การพิมพ์ด้วยระบบหมึกพิมพ์ หรือการพิมพ์สกรีน นอกจากนี้ พอลิเมอร์กึ่งตัวนำยังสามารถเตรียมเป็นฟิล์มบาง ซึ่งสามารถควบคุมให้มีความหนาเพียงหนึ่งโมเลกุล โดยมีลักษณะความเป็นเนื้อเดียวกันสูง มีความเป็นระเบียบ โมเลกุลไม่ซ้อนเกยกันหรือห่างกันจนเกินไป นอกจากนั้นยังสามารถเตรียมให้เป็นฟิล์มบางแบบหลายชั้นได้ ด้วยคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ทำให้พอลิเมอร์กึ่งตัวนำสามารถนำไปประยุกต์ตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่ละเอียดอ่อนได้หลากหลาย เช่น เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ตรวจวัด อุปกรณ์วินิจฉัยในทางการแพทย์ เซลล์แสงอาทิตย์ หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กมาก เป็นต้น

สมาชิก

ชื่อ ความเชี่ยวชาญ ติดต่อ
ดร. อุดม อัศวาภิรมย์ (หัวหน้า) Polymer Chemistry udom@10.228.26.6
ดร. ชุลีกร โชติสุวรรณ Material Chemistry chuleekorn@10.228.26.6
นายอนุศิษย์ แก้วประจักร์ Applied Physics
นางสาวพิมพ์วิภา ปิยกุละวัฒน์ Chemistry
นายอรรถพล ศรีฟ้า Chemical Engineering
นางสาวกานต์พิชชา จิรมิตรมงคล Organic Chemistry

ผลงานเด่น

อนุภาคลาเทกซ์สีขนาดนาโนชนิดใหม่จากการเชื่อมต่อกันของโมเลกุลสีกับสายโซ่พอลิเมอร์ด้วยพันธะโควาเลนต์

สารที่ทำให้เกิดสีในอุตสาหกรรมสีมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สีย้อมสังเคราะห์ (Synthetic dye) และสีผง (Pigment) สีย้อมสังเคราะห์เป็นสารอินทรีย์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ ละลายได้ดีและกระจายตัวได้อย่างสม่ำเสมอในตัวกลาง สีของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากสีย้อมสังเคราะห์จะสว่างสดใส แต่ความคงทนของสีต่อแสงต่ำ และเกิดการเคลื่อนย้ายโมเลกุลของสีได้ง่าย ส่งผลให้สีซีดจางเร็วและอาจเกิดการแพ้หรือความเป็นพิษต่อผู้ใช้งานได้ ในขณะที่สีผงเป็นสารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นอนุภาคขนาดเล็กและ ละเอียดมาก สีผงจะทนทานต่อความร้อนและแสงได้ดีกว่าสีย้อม แต่สีไม่สว่างสดใสเท่า

เพื่อรวมจุดเด่นของสีย้อมและสีผงไว้ด้วยกัน ได้มีการสังเคราะห์ลาเทกซ์สี (Colored latex) จากกระบวนการพอลิเมอร์ไรเซชั่น ลาเทกซ์สีที่สังเคราะห์ขึ้นจะประกอบไปด้วยอนุภาคของพอลิเมอร์ที่กักเก็บสี ไว้ภายใน หากแต่สีจะมีแรงดึงดูดกับพอลิเมอร์โดยปราศจากพันธะโควาเลนท์ (Non-covalent interaction) ทำให้โมเลกุลสีเคลื่อนย้ายออกจากอนุภาคพอลิเมอร์ได้ในเวลาต่อมา

ดร. อุดม อัศวาภิรมย์ นางสาวพิมพ์วิภา ปิยกุละวัฒน์  Mr. Joerg Wlosnewski จากห้องปฏิบัติการวัสดุนาโนเฉพาะทางและโครงสร้างพื้นผิว และดร. ดวงพร พลพานิช นางสาวรวีวรรณ ถิรมนัส จากห้องปฏิบัติการวัสดุนาโนเฉพาะทางและโครงสร้างพื้นผิว ได้ร่วมกันพัฒนาออกแบบและสังเคราะห์โมเลกุลอินทรีย์ชนิดใหม่ขึ้น ซึ่งมีหมู่อัลลิล (Allyl group) ที่ปลายของโมเลกุล หมู่ดังกล่าวสามารถทำปฏิกิริยาพอริเมอไรเซชั่นแบบเรดิคอล (Radical polymerization) กับไวนิลมอนอเมอร์ชนิดต่างๆ เกิดเป็นพอลิเมอร์ที่มีโครงสร้างของโมเลกุลสีเชื่อมต่อกับสายโซ่พอลิเมอร์ ด้วยพันธะโควาเลนต์ ช่วยให้โมเลกุลสีไม่เคลื่อนย้ายออกจากอนุภาคลาเทกซ์


ต้นแบบอนุภาคลาเทกซ์สี

อนุภาคที่ได้มีขนาดประมาณ 100 นาโนเมตร ลาเทกซ์จึงมีสีสันสดใส เนื่องจากไม่เกิดการกระเจิงของแสงบนอนุภาค และโครงสร้างของโมเลกุลช่วยให้สีไม่ซีดจางเร็ว

ลาเทกซ์สีที่พัฒนาขึ้นนี้มีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลาก หลายด้าน เช่น การผลิตพลาสติกสี หมึกพิมพ์ เป็นต้น

งานวิจัยดังกล่าวยังได้ยื่นขอจดสิทธิบัตร 2 ฉบับ ภายใต้ชื่อการประดิษฐ์ “ลาเทกซ์สีและกระบวนการสังเคราะห์ลาเทกซ์สีดังกล่าว” เลขที่คำขอ 0901000619 และ “โมเลกุลสีจากอนุพันธ์ของ 1,4,5,8-แนฟทาลีนเตตระคาร์บอกซีลิคไดอิมิด และกรรมวิธีการสังเคราะห์โมเลกุลสีดังกล่าว” เลขที่คำขอ 0901000620 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552

อุปกรณ์ตรวจวัดรังสีอัลตราไวโอเลทต้นทุนต่ำ

อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีอัลตราไวโอเลทที่พบในปัจจุบันคือกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน และต้นทุนในการผลิตสูง เนื่องจากการปลูกสารฟิล์มบางภายใต้ระบบสุญญากาศ หรือ เทคโนโลยีการปลูกไมโครชิพต้องทำในระบบห้องสะอาด (clean room) เท่านั้น

ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่เกิดแนวคิดด้านการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีอัตราไวโอเลทต้นทุนต่ำขึ้น คณะผู้วิจัยจากสามหน่วยงาน อันได้แก่ ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ นายรุ่งโรจน์ เมาลานนท์ นางสาวพิมพ์วิภา ปิยะกุลวัฒน และนายชินพัฒน์ ศรีโกมุท ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ และนางสาวภัทรลักษณ์ ปักมัง วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร. ศุภนิจ พรธีระภัทร และนายอัมพร โพธิ์ใย ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกันวิจัยพัฒนาวัสดุผสมระหว่างอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ซึ่งมีสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีของประจุลบ และพอลิเมอร์นำไฟฟ้าซึ่งมีสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้าของประจุบวก เกิดเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีรังสีอัลตราไวโอเลทต้นทุนต่ำ


หัวเซนเซอร์ตรวจวัดรังสี UV

หลักการทำงานของอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีดังกล่าวคือ เมื่อวัสดุผสมนี้รับแสงในย่านอัลตราไวโอเลทจะเกิดประจุไฟฟ้าขึ้น จากนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสมบัติการนำไฟฟ้าอย่างฉับพลัน ทำให้สามารถวัดเป็นสัญญาณการตอบสนองต่อรังสีอัลตราไวโอเลทได้ในที่สุด

จุดเด่นของงานวิจัยดังกล่าว คือ กรรมวิธีในการสร้างเป็นเซนเซอร์ที่ไม่ยุ่งยาก ด้วยเทคนิคการหยดเคลือบ โดยมิต้องกระทำภายใต้ระบบสุญญากาศ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้หลายเท่าตัว และสามารถประยุกต์ใช้กับฐานรองประเภทพลาสติกเพื่อสร้างเป็นอุปกรณ์พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต

เซนเซอร์ดังกล่าวยังมีความจำเพาะในการตอบสนองต่อรังสีอัลตราไวโอเลท และตอบสนองได้ดีแม้ในสภาวะความเข้มแสงต่ำ

คณะนักวิจัยได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจับรังสีอัตราไวโอเลทต้นทุนต่ำนี้เป็นต้นแบบอุปกรณ์ตรวจวัดความเข้มของรังสีอัลตราไวโอเลทที่เกินระดับปลอดภัย 400 ไมโครวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร และส่งสัญญาณไฟเตือนเมื่อรังสีมีความเข้มเกินระดับ

งานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรประเทศไทย ภายใต้ชื่อการประดิษฐ์ “วัสดุผสมอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์และพอลิเมอร์สารกึ่งตัวนำสำหรับอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีอัลตราไวโอเลท” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 เลขที่คำขอ 0901004648

ผลงานตีพิมพ์

– Anusit Keawprajak, Phimwipha Piyakulawat, Joerg Wlosnewski, Phansak Lamraksa, Chaiyuth Saekung, Udom Asawapirom, “TiOx Concentration Dependence of OPV Efficience Optimization” Advanced Materials Research, Vols. 93-94 (2010), pp 517-520.
– Chindaduang, A., Duangkeaw, P., Pratontep, S., Tumcharrn, G., “Polymer Electrolyte based on Dye-Sensitized Solar Cells: Rule of Multi-Walled Carbon Nanotubes”Advanced Materials Research, Vols. 93-94 (2010), pp 31-34.
– Anusit Keawprajak, Phimwipha Piyakulawat, Annop Klamchuen, Phansak Lamraksa, Udom Asawapirom, “Influence of crystallizable solvent on the morphology and performance of P3HT:PCBM bulk-heterojunction solar cells” Solar Energy Materials & Solar Cells, 94 (2010), pp 531–536.
– N. Grisdanurak, Y. Phuphuak, J. Wittayakun and K. Fukaya, “Effect of Ni Doping on Ce–Mg–O Nanosize Catalysts for CO Oxidation”, Journal of Chemical Engineering of Japan, Vol. 42,  s176–s179 (2009)
K. Wantala, L. Laokiat, P. Khemthong, N. Grisdanurak and K. Fukaya, “Calcination temperature effect on solvothermal Fe-TiO2 and its performance under visible light irradiation” Journal of the Taiwan Institute of Chemical Engineers (2010).

คณะผู้วิจัยจากสามหน่วยงาน อันได้แก่ ดร.อุดม อัศวาภิรมย์นายรุ่งโรจน์ เมาลานนท์ นางสาวพิมพ์วิภา ปิยะกุลวัฒน และนายชินพัฒน์ศรีโกมุท ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพและนางสาวภัทรลักษณ์ ปักมัง วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร. ศุภนิจ พรธีระภัทรและนายอัมพร โพธิ์ใย ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ