เครือข่ายร่วมวิจัยในประเทศ

 โครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้เริ่มดำเนินงานด้านเครือข่ายการวิจัยระหว่างศูนย์ฯและมหาวิทยาลัยโดยจัดตั้งศูนย์เครือข่ายพันธมิตรความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี (Center of excellence) นับตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งดำเนินการในระยะที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี (ระหว่างปี 2549 – 2554) ประกอบด้วยศูนย์เครือข่ายจำนวน 8 แห่ง เพื่อการสนับสนุนกลุ่มวิจัยที่มีความเป็นเลิศเฉพาะทางในการทำวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ เมื่อสิ้นสุดระยะที่ 1 ได้มีการประเมินผลการงานบรรลุตามเป้าหมาย โดยเกิดการวิจัยพัฒนานาโนเทคโนโลยีไปยังภูมิภาคต่างๆของประเทศ ซึ่งจากความสำเร็จในระยะที่ 1 จึงได้ดำเนินการต่อในระยะที่ 2 ระยะเวลา 5 ปี (ระหว่างปี 2556 – 2561) ในระยะที่ 2 ประกอบด้วยศูนย์เครือข่ายฯ จำนวน 9 แห่ง เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาตามแผนที่นำการวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี (Technology Road Map: TRM) เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นในระยะที่ 2 ได้มีการประเมินผลการดำเนินงานและเห็นควรที่จะดำเนินการต่อในระยะที่ 3 และได้เริ่มดำเนินการในปี 2561

ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินงานในระยะที่ 3 (2562 – 2564) ภายใต้ชื่อ “โครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี” ประกอบด้วยศูนย์เครือข่ายกลุ่มวิจัยเฉพาะทางในมหาวิทยาลัยจำนวน 11 แห่ง จาก 7 มหาวิทยาลัย โดยการดำเนินงานในระยะที่ 3 นี้ มุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือกับ ศน.และมุ่งเน้นนำผลงานวิจัยที่พัฒนามาไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ

ศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี จำนวน 11 จาก 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 เครือข่าย (ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอาหารและการเกษตร ด้านวัสดุนาโนที่มีโครงสร้างและสมบัติพิเศษ) มหาวิทยาลัยมหิดล 3 เครือข่าย (ด้านชุดตรวจนาโนเทคโนโลยีเพื่อการใช้จริงทางคลินิก ด้านเวชศาสตร์นาโนวินิจฉัยพร้อมรักษา ด้านวัสดุนาโนและระบบอัจฉริยะ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 1 เครือข่าย (ด้านนวัตกรรมนาโนเซนเซอร์สำหรับการใช้งานเพื่อการมอนิเตอร์ด้านสุขภาพ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 เครือข่าย (ด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและวัสดุนาโนเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน)มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 เครือข่าย (ด้านนวัตกรรมวัสดุนาโนเพื่อพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 1 เครือข่าย (ด้านวัสดุนาโนและการวิเคราะห์ขั้นสูง) และสถาบันวิทยสิริเมธี 1 เครือข่าย (ด้านพลังงาน)